พนมฉัตร วัดเขาล้อ ต. ดอนคา อ. ท่าตะโก จ. นครสวรรค์ http://watkhaolow.siam2web.com/
 

           

  เขาพนมฉัตร

 

          พนมฉัตรเป็นชื่อชองภูเขาลูกหนึ่งในจำนวน 7 ลูกของหมู่บ้านเขาล้อ หรือชาวบ้านในระแวกนี้เรียกว่าเขาผู้ใหญ่เนื่องจากความใหญ่โตและความสูงที่มีมากกว่าภูเขาลูกอื่น ๆ ที่อยู่ในบริเวณนี้  

       บนยอดของเขาพนมฉัตรมีสิ่งก่อสร้างที่สำคัญคือ มณฑปและศาลาจัตุรมุขประจำทิศหลักทั้ง 4 ทิศคือ ทิศตะวันออก ทิศตะวันตก ทิศเหนือและทิศใต้ นอกจากนี้ ทั้งมณฑปและศาลาจัตุรมุข ได้บรรจุองค์พระบรมสารีริกธาตุที่มีคุณค่าและไม่สามารถประเมินค่าได้ หากใครไปอำเภอท่าตะโก จังหวัดนครสวรรค์ อยากเห็นทัศนียภาพที่สวยงามของอำเภอท่าตะโกทั้งอำเภอ ทุ่งนาที่มีต้นข้าวขึ้นเขียวขจีดุจเหมือนใครนำพรมผืนใหญ่มาลาดปูไว้ และสามารถมองเห็นบึงบรเพ็ดที่ไกลออกไปลิบ ๆ ทางด้านทิศตะวันตกของเขาพนมฉัตร ท้องฟ้าที่มีสีครามสดใส เป็นทัศนียภาพที่งดงามเกินคำบรรยาย อากาศบนยอดเขาพนมฉัตรเย็นสบายลมพัดตลอดเวลา เหมือนเชิญชวนอยากให้ท่านได้นั่งพักผ่อนหรือหลับตาสักครู่ เพื่อคลายความกังวนและเมื่อยล้าจากการเดินทาง 

ลานจอดรถบนยอดเขา



ภูเขาพนมฉัตรแห่งนี้ยังมีสิ่งศักสิทธิ์ ซึ่งเป็นที่เคารพนับถือของชาวอำเภอท่าตะโก คือ พระบรมสารีริกธาตุ ที่ท่านเจ้าอาวาสวัดเขาล้อคือ พระครูนิพัทธิ์ธรรมาภรณ์ (หลวงพ่อพันธ์) ได้นำมาบรรจุไว้ในมณฑป การเริ่มต้นก่อสร้างโบราณสถานบนยอดเขานี้ หลวงพ่อพันธ์ ได้สร้างศาลาสวดมนต์ครอบหินที่ตั้งสูงสุดบนยอดเขาพนมฉัตรนี้เป็นหลังแรก เดิมทีมีเสาตั้งอยู่บนหิน ศาลาที่หลวงพ่อพันธ์สร้างเป็นหลังคาสังกะสี ศาลานี้สร้างเป็นศาลาอเนกประสงค์ทรงไทยใช้เวลาประมาณ 1 เดือน หลังมีการปรับพื้นที่โดยรอบ โดยใช้รถแทรกเตอร์ปรับพื้น 

           

 หลวงพ่อพันธ์ มีศรัทธาอย่างแรกกล้าในการสร้างพระมณฑปบนยอดเขาพนมฉัตรเพื่อไว้เป็นปูชนียสถานที่สำคัญไว้สักการะบูชา กราบไว้ แด่พุทธศาสนิกชนโดยทั่วไปและดูเหมือนสิ่งศักสิทธิ์จะรับรู้ ในความมุ่งมั่นตั้งใจของท่าน จึงได้ดลบันดาลให้หลวงพ่อสุนทร วัดปราสาททอง จังหวัดสุพรรณบุรี ได้เดินทางมาปริวาสกรรมที่วัดสระโบสถ์ ตำบนดอนคา อำเภอท่าตะโก จังหวัดนครสวรรค์ ในเดือนกุมภาพันธ์ ปี พ.ศ.2522 การมาของท่านได้นำพระบรมสารีสิกธาตุขององค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้ามาด้วย ท่านได้ทราบความประสงค์ของหลวงพ่อพันธ์ จึงได้มอบพระบรมสารีริกธาตุถวายให้กับหลวงพ่อพันธ์ หลวงพ่อพันธ์จึงพิจารณาว่าน่าจะสร้างมณฑปไว้บนยอดเขาพนมฉัตรตามที่ตั้งใจแต่เดิม ท่านจึงชวนชาวบ้านขึ้นไปบนยอดเขา ท่านได้เลือกทำเลที่ตั้งของมณฑปตรงบริเวณตรงของกองเจดีย์เก่าใกล้บ่อน้ำศักสิทธิ์ เนื้อที่บริเวณนี้ประมาณ 4 ไร่เศษ                                                                                                                                                                                    

        งบประมาณส่วนใหญ่ได้จากทรัพย์สินส่วนตัวของหลวงพ่อพันธ์และชาวบ้านเริ่มสมทบเป็นระยะ ๆ ค่าใช้จ่ายไม่ได้มีการบันทึกไว้ แรงงานส่วนใหญ่ได้จากชาวบ้านเขาล้อ งบประมาณใช้จ่ายค่าวัสดุอุปกรณ์ เป็นเงินส่วนตัวของผู้บริจาคตามกำลังทรัพย์ของตน หลวงพ่อพันธ์ควบคุมการออกแบบและก่อสร้างมณฑปด้วยตนเอง

  

  

  

 

พระธาตุบรรจุพระบรมสารีริกธาตุ บนยอดเขาพนมฉัตร

 

         ต่อมาในปี พ.ศ. 2527 หลวงพ่อพันธ์ได้เดินทางไป ประเทศอินเดียดินแดนพุทธภูมิ ท่านได้เดินทางไปยังสถานที่ต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับพระพุทธเจ้า และได้นำดินจากสังเวชนียสถานที่พระพุทธเจ้าทรงประสูติ ตรัสรู้ แสดงปฐมเทศนา และปรินิพพาน จำนวน 4 ที่ มาประดิษฐานไว้ที่พระมณฑป พร้อมกันนี้ท่านยังนำต้นศรีมหาโพธิ์ จำนวน 4 ต้น มาปลูกไว้บริเวณด้านล่างพระมณฑปประจำทิศหลักทั้ง 4 ทิศ

ทางขึ้นบันได จากลานจอดรถบนเขา

  

         ต่อมา คุณบุญชู  โรจนเสถียร เห็นว่ารถขนของก่อสร้างและชาวบ้านที่เดินทางขึ้นเขามีความยากลำบากในการเดินทาง ท่านจึงได้บริจาคทรัพย์ส่วนตัว จำนวน 1,750,000 บาท สร้างทางลาดยางขึ้นเขาพนมฉัตร เพื่อประโยชน์ของชาวบ้านในการเดินทางไปนมัสการพระบรมสารีริกธาตุ

 

       หลวงพ่อพันธ์ได้ให้ความสำคัญของบ่อน้ำศักดิ์สิทธิ์เพราะครั้งที่หลวงพ่อพบนั้น บ่อน้ำนี้มี 2 บ่อ รูปบ่อคล้ายรอยเรือพาย ลำใหญ่กับลำเล็ก จอดเหลี่ยมล้ำกันอยู่ บ่อน้ำเล็กลึกไม่มากนัก แต่บ่อน้ำใหญ่มีความลึกมาก เคยมีคนลองตัดต้นไผ่นำมาหยั่งความลึก  ของน้ำพบว่า ความลึกของน้ำเกือบสุดลำของไม้ไผ่น้ำในบ่อน้ำมีปริมาณมาก ต่อมาหลวงพ่อพันธ์กลัวคนจะพลัดตกน้ำ จึงได้นำก้อนหินทิ้งในบ่อน้ำบ่อใหญ่ เพื่อให้หินอุดรอยหินแตกที่ก้นบ่อ ทำให้บ่อน้ำตื้นขึ้นมาอีก น้ำที่ผุดมาจากใต้ดินนี้มีความใส สะอาด และเย็นชื่นใจ ตอนหลวงพ่อพันธ์พบบ่อน้ำใหม่ๆ ท่านได้เห็นรอยเท้าสัตว์หลายชนิดที่อยู่บริเวณใกล้เคียงตรงนั้น น้ำที่ผุดออกมาจากบ่อน้ำ ไม่เคยแห้งเลย แม้ในปัจจุบันก็ยังมีอยู่ แต่หลวงพ่อได้สร้างที่ครอบไว้ให้แล้ว

 

       ปี พ.ศ. 2528 หลวงพ่อพันธ์ได้ทำพิธีบรรจุองค์พระบรมสารีริกธาตุตรงกับขึ้น 14 ค่ำ เดือน 9 ในวันนั้นขณะพิธีอยู่ในช่วงเช้า เวลา 8.00  มีปาฏิหาริย์เกิดขึ้นคืออากาศหนาวเย็นขึ้นมาทันที และเกิดมีทะเลหมอกหนาแน่นมาก จนทำให้มองไม่เห็นหมู่บ้านและสิ่งอื่นๆ ที่อยู่ข้างล่าง

 

       ปัจจุบันองค์พระบรมสารีริกธาตุที่หลวงพ่อพันธ์ได้มาจากหลวงพ่อสุนทรเพียงเล็กน้อยนั้น ต่อมาเกิดปาฏิหาริย์มีองค์พระบรมสารีริกธาตุจำนวน เพิ่มขึ้น หลวงพ่อพันธ์จึงนำมาบรรจุไว้ในศาลาจัตุรมุขทั้ง 4 ทิศ และยังมีบางส่วนที่ยังอยู่ในบุษบก เมื่อศึกษาค้นคว้าและสอบถามผู้รู้ถึงสาเหตุการเพิ่มขององค์พระบรมสารีริกธาตุนั้น มาจากผู้ที่เป็นเจ้าของต้องเป็นผู้นั่งวิปัสสนากรรมฐานอยู่เป็นประจำสม่ำเสมอ องค์พระบรมสารีริกธาตุนั้นท่านสามารถมาได้เองและถ้าผู้เป็นเจ้าของห่างเหินการนั่งวิปัสสนากรรมฐาน องค์พระบรมสารีริกธาตุก็จากไปได้เช่นเดียวกัน เหตุการณ์นี้ทำให้เราทราบว่าหลวงพ่อพันธ์ท่านนั่งวิปัสสนากรรมฐานนี่เอง จึงทำให้องค์พระบรมสารีริกธาตุมีเพิ่มมากขึ้นหากฆราวาสท่านใดหมั่นนั่งวิปัสสนากรรมฐานบ่อยๆ และประพฤติตนอยู่ในศีลธรรมองค์พระบรมสารีริกธาตุก็สามารถมาอยู่กับท่านได้

 

ภาพเขียนจิตรกรรมผาผนัง รอบ ๆ พนมฉัตร

 

       นอกจากนี้หลวงพ่อพันธ์ยังมีสิ่งก่อสร้างทางสถาปัตยกรรมทั้งของโบราณเก่าแก่และร่วมสมัยรัตนโกสินทร์แล้ว ยังมีภาพจิตรกรรมไทยที่งดงามจากฝีมือของคนเขาล้อเองจิตรกรในท้องถิ่น คือ นายสมปอง โพธิ์อ่อง เป็นคนใบ้ที่มีพรสวรรค์สูงมาก สามารถวาดภาพจิตรกรรมไทยทุกประเภทได้อย่างสวยงามอ่อนช้อยไม่แพ้ใคร ทั้งที่ไม่ได้ศึกษาเล่าเรียนมาจากสถาบันการศึกษาใดๆ เลย แต่อาศัยครูพักลักจำ มา และอาศัยสังเกตุจากภาพวาดในหนังสือ ซึ่งเป็นพรสวรรค์แต่กำเนิดโดยแท้จริง 

(gallery) 20101015_65151.jpg


 
 
Advertising Zone    Close

Online: 1 Visits: 42,205 Today: 5 PageView/Month: 29

ด้วยความปราถนาดีจาก "สยามทูเว็บดอทคอม" และเพื่อป้องกันการเปิดเว็บไซต์เพื่อหลอกลวงขายของ โปรดตรวจสอบร้านค้าให้แน่ใจก่อนตัดสินใจซื้อของทุกครั้งนะคะ    อ่านเพิ่มเติม ...